หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) ฉบับหนังสือเสียง : วันที่ 20

Posted on 01/18/2022
|

📌 365 วัน สู่ความเชื่อที่หยั่งลึก "จากคำสอน สู่ความเชื่อ เพื่อพบพระเจ้า"
หยั่งลึกในความเชื่อวันละนิดกับชีวิตที่ใกล้ชิดพระเจ้ามากยิ่งขึ้น

––––––––––––––––––––
📌 วันที่ 20
IV. สารบบพระคัมภีร์ (CCC 120)
- พันธสัญญาเดิม (CCC 121-123)
- พันธสัญญาใหม่ (CCC 124-127)

IV. สารบบพระคัมภีร์

CCC 120 ธรรมประเพณีที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรดาอัครสาวกช่วยให้พระศาสนจักรรู้ว่าหนังสือเล่มใดอยู่ในรายชื่อหนังสือพระคัมภีร์ รายชื่อหนังสือเหล่านี้ทั้งหมดเรียกว่า “สารบบพระคัมภีร์” ซึ่งรวมหนังสือ 46 เล่มในพันธสัญญาเดิม (หรือ 45 เล่มถ้ารวมหนังสือเพลงคร่ำครวญเป็นเล่มเดียวกับประกาศกเยเรมีย์) และ 27 เล่มในพันธสัญญาใหม่ หนังสือเหล่านี้ได้แก่
พันธสัญญาเดิม – ปฐมกาล, อพยพ, เลวีนิติ, กันดารวิถี, เฉลยธรรมบัญญัติ, โยชูวา, ผู้วินิจฉัย, นางรูธ, ซามูเอล 2 ฉบับ, พงศ์กษัตริย์ 2 ฉบับ, พงศาวดาร 2 ฉบับ, เอสราและเนหะมีย์, โทบิต, ยูดิธ, เอสเธอร์, มัคคาบี 2 ฉบับ. โยบ, เพลงสดุดี, สุภาษิต, ปัญญาจารย์, เพลงซาโลมอน, ปรีชาญาณ, บุตรสิรา, อิสยาห์, เยเรมีย์, เพลงคร่ำครวญ, บารุค, เอเสเคียล, ดาเนียล, โฮเชยา, โยเอล, อาโมส, โอบาดียาห์, โยนาห์, มีคาห์, นาฮูม, ฮาบากุก, เศฟันยาห์, ฮักกัย, เศคาริยาห์, มาลาคี
พันธสัญญาใหม่ – พระวรสารตามคำบอกเล่าของมัทธิว, มาระโก, ลูกา, และยอห์น, กิจการของอัครสาวก, จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรม, ถึงชาวโครินธ์ฉบับที่ 1-2, ถึงชาวกาลาเทีย, ถึงชาวเอเฟซัส, ถึงชาวฟีลิปปี, ถึงชาวโคโลสี, ถึงชาวเธสะโลนิกาฉบับที่ 1-2, ถึงทิโมธีฉบับที่ 1-2, ถึงทิตัส, ถึงฟีเลโมน, จดหมายถึงชาวฮีบรู, จดหมายของยากอบ, ของเปโตรฉบับที่ 1-2, ของยอห์น 3 ฉบับ, จดหมายของยูดา, และวิวรณ์

พันธสัญญาเดิม
CCC 121 พันธสัญญาเดิมเป็นส่วนที่จะทิ้งเสียมิได้ของพระคัมภีร์ หนังสือต่างๆ ของพันธสัญญาเดิมได้รับการดลใจให้เขียนจึงมีคุณค่าถาวร เพราะพระเจ้าจะไม่ทรงยกเลิกพันธสัญญาเดิมเป็นอันขาด
CCC 122 อันที่จริง “พระเจ้าทรงจัดแผนการของพันธสัญญาเดิมไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ คือเพื่อเตรียมการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า พระผู้ไถ่แห่งสากลโลก [.....]” “แม้ว่าหนังสือพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมเหล่านี้บันทึกบางสิ่งบางอย่างที่ยังไม่สมบูรณ์และเป็นเพียงของชั่วคราวไว้ก็จริง แต่ก็แสดงให้เห็นวิธีอบรมแท้จริงของพระเจ้า” หนังสือเหล่านี้ “เป็นที่รวบรวมพระธรรมคำสอนสูงส่งเรื่องพระเจ้า รวมทั้งความปรีชาที่มีประโยชน์เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ และยังเป็นคลังคำภาวนาต่างๆ อย่างน่าพิศวง และในที่สุดยังซ่อนธรรมล้ำลึกเรื่องการไถ่กู้ไว้อีกด้วย”
CCC 123 บรรดาคริสตชนให้ความเคารพต่อพันธสัญญาเดิมว่าเป็นพระวาจาแท้จริงของพระเจ้า พระศาสนจักรยึดมั่นไม่เคยยอมรับความคิดที่จะละทิ้งพันธสัญญาเดิมโดยอ้างว่าพันธสัญญาใหม่ทำให้พันธสัญญาเดิมไม่มีความหมายอีกต่อไปเลย (ความคิดนี้เป็นของลัทธิมาร์โชน)

พันธสัญญาใหม่
CCC 124 “พระวาจาของพระเจ้า ซึ่งเป็นฤทธานุภาพของพระองค์และนำความรอดพ้นมาให้ทุกคนที่มีความเชื่อ ปรากฏและแสดงพลังอย่างเลิศล้ำในข้อเขียนของพันธสัญญาใหม่” ข้อเขียนเหล่านี้มอบความจริงที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้เรารู้โดยสมบูรณ์ เรื่องราวที่เป็นศูนย์กลางของข้อเขียนเหล่านี้คือพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ พระจริยวัตร คำสั่งสอน พระทรมานและการที่ทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์ เช่นเดียวกับการเริ่มต้นของพระศาสนจักรโดยที่พระจิตเจ้าทรงช่วยอุดหนุน
CCC 125 พระวรสาร คือหัวใจของพระคัมภีร์ทั้งหมด “เพราะเป็นพยานสำคัญถึงพระชนมชีพและคำสั่งสอนของพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ พระผู้ไถ่ของเรา”
CCC 126 เราอาจแบ่งขั้นตอนการรวบรวมพระวรสารได้เป็น 3 ขั้นตอน คือ
1. พระชนมชีพและการเทศน์สอนของพระเยซูเจ้า พระศาสนจักรยึดถืออย่างมั่นคงว่า พระวรสารทั้งสี่ฉบับ “บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จริงๆ บอกอย่างซื่อสัตย์ให้เรารู้ถึงสิ่งที่พระเยซูเจ้า พระบุตรของพระเจ้า ทรงกระทำและทรงสั่งสอนจริงๆ ขณะที่ทรงพระชนม์อยู่ท่ามกลางมนุษย์จนถึงวันที่เสด็จสู่สวรรค์”
2. ธรรมประเพณีเล่าสืบต่อมาเป็นคำพูด “เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์แล้ว บรรดาอัครสาวกก็ถ่ายทอดสิ่งที่พระองค์เคยตรัสและเคยทรงกระทำให้ผู้ฟังต่อมาด้วยความเข้าใจที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เขาได้รับความเข้าใจนี้จากเหตุการณ์รุ่งโรจน์ต่างๆ ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ และได้รับการสั่งสอนจากความสว่างของพระจิตเจ้าแห่งความจริง”
3. พระวรสารที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร “ผู้นิพนธ์ได้เขียนพระวรสารทั้งสี่ฉบับ โดยคัดเลือกเอาบางสิ่งบางอย่างจากเหตุการณ์และจากพระวาจาจำนวนมากมายที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยเล่าด้วยปากต่อปากหรือที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว และยังสังเคราะห์บางเรื่องเข้าด้วยกัน หรืออธิบายโดยคำนึงถึงสภาพการณ์ของกลุ่มคริสตชนต่างๆ โดยยังยึดถือรูปแบบการประกาศข่าวดีไว้เสมอ และดังนี้เขาจึงถ่ายทอดความจริงเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าให้แก่เราด้วยความจริงใจ”

CCC 127 พระวรสารทั้งสี่ฉบับมีความสำคัญเป็นพิเศษในพระศาสนจักร ดังจะเห็นได้ชัดจากความเคารพนับถือที่พระวรสารได้รับจากพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ และในอิทธิพลที่พระวรสารมีต่อบรรดานักบุญในทุกสมัย

“ไม่มีคำสอนใดยิ่งใหญ่ ดี ประเสริฐ หรือรุ่งโรจน์กว่าข้อความในพระวรสาร ท่านทั้งหลายจงดู จงยึดมั่นสิ่งที่พระคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระอาจารย์ของเราทรงสั่งสอนทั้งด้วยพระวาจาและด้วยพระแบบฉบับ”
“พระวรสารมีที่อยู่ในการอธิษฐานภาวนาของข้าพเจ้าเหนือทุกสิ่ง ในพระวรสารข้าพเจ้าพบทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับวิญญาณยากจนของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าค้นพบแสงสว่างใหม่ ความหมายลึกลับที่ซ่อนอยู่ในพระวรสารเสมอ”

––––––––––––––––––––
#แผนกคริสตศาสนธรรมผู้ใหญ่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
#คำสอนผู้ใหญ่
#RCIA