หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) ฉบับหนังสือเสียง : วันที่ 18

Posted on 01/17/2022
|

📌 365 วัน สู่ความเชื่อที่หยั่งลึก "จากคำสอน สู่ความเชื่อ เพื่อพบพระเจ้า"
หยั่งลึกในความเชื่อวันละนิดกับชีวิตที่ใกล้ชิดพระเจ้ามากยิ่งขึ้น

แผนกคริสตศาสนธรรมผู้ใหญ่ ฝ่ายงานธรรมทูต อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ขอนำเสนอหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) ฉบับหนังสือเสียง ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สนใจที่อาจไม่สะดวกในการอ่านในขณะใดขณะหนึ่ง และเป็นพิเศษเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สนใจที่มีความทุพพลภาพทางสายตา ทั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสช่วยพวกเขาให้ได้รับฟังและได้เรียนรู้ถึงคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก รวมถึงคำสอนของพระเยซูเจ้าและบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่น่าสนใจ แทนการอ่าน (สำหรับเนื้อหาแบบปกติในแต่ละวัน สามารถอ่านติดตามอ่านได้ที่ด้านล่างนี้ครับ 👇)

––––––––––––––––––––
📌 วันที่ 18
- III. พระจิตเจ้าคือ ผู้อธิบายความหมายของพระคัมภีร์ (CCC 109-114)

III. พระจิตเจ้าคือผู้อธิบายความหมายของพระคัมภีร์

CCC 109 ในพระคัมภีร์ พระเจ้าตรัสกับมนุษย์ตามแบบอย่างมนุษย์ ดังนั้น เพื่ออธิบายความหมายพระคัมภีร์ได้ถูกต้อง จึงจำเป็นต้องเอาใจใส่คำนึงถึงความหมายที่มนุษย์ผู้เขียนต้องการจะบอก และถึงพระประสงค์ที่พระเจ้าทรงต้องการจะเปิดเผยแก่เราจริงๆ ด้วยพระวาจาของพระองค์
CCC 110 เพื่อจะทราบความประสงค์ของผู้นิพนธ์พระคัมภีร์ เราต้องพิจารณาถึงสภาพของกาลเวลาและวัฒนธรรมของเขา สภาพของ “รูปแบบวรรณกรรม” ที่ใช้กันในสมัยนั้น สภาพของวิธีการรับรู้ พูดจาและเล่าเรื่องที่ใช้กันในขณะนั้น “เพราะว่าความจริงในตัวบทนั้นแสดงออกด้วยวิธีการแตกต่างกัน แล้วแต่ว่าตัวบทนั้นจะเป็นแบบประวัติศาสตร์ แบบประกาศก หรือแบบกวีนิพนธ์ หรือแบบเขียนอื่นๆ”
CCC 111 แต่เพราะพระคัมภีร์ได้รับการดลใจจากพระเจ้า จึงยังต้องมีหลักการอีกประการหนึ่งเพื่ออธิบายความหมายอย่างถูกต้อง หลักการนี้มีความสำคัญไม่น้อยกว่าหลักการที่กล่าวแล้วก่อนหน้านี้เพื่อมิให้พระคัมภีร์เป็นเพียง “ตัวอักษรที่ตายแล้ว” “เราต้องอ่านและเข้าใจพระคัมภีร์อาศัยพระจิตเจ้าองค์เดียวกันกับที่ทรงดลใจให้เขียน”
สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 จึงเสนอ มาตรการสามประการ เพื่ออธิบายความหมายของพระคัมภีร์ตามที่พระจิตเจ้าทรงดลใจให้เขียนไว้ดังต่อไปนี้
CCC 112 ให้ความเอาใจใส่อย่างมาก “ต่อเนื้อหาและเอกภาพของพระคัมภีร์ทั้งหมด” แม้หนังสือฉบับต่างๆที่ประกอบเป็นพระคัมภีร์จะมีความแตกต่างกันอย่างมาก แต่พระคัมภีร์ก็มีหนึ่งเดียวจากเหตุผลที่ว่าพระเจ้าทรงมีแผนการเพียงหนึ่งเดียวที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางและหัวใจที่เปิดออกหลังจากปัสกาของพระองค์

“หัวใจของพระคริสตเจ้าหมายถึงพระคัมภีร์ซึ่งเปิดเผยให้เห็นพระหทัยของพระคริสตเจ้า พระหทัยนี้ปิดอยู่ก่อนทรงรับทรมาน เพราะยังเข้าใจได้ไม่ชัดเจน แต่ได้เปิดออกหลังจากทรงรับทรมานแล้ว เพราะผู้ที่พิจารณาพระทรมานก็เข้าใจและแลเห็นชัดเจนว่าถ้อยคำของบรรดาประกาศกต้องได้รับการอธิบายอย่างไร”

CCC 113 อ่านพระคัมภีร์ “โดยคำนึงถึงธรรมประเพณีที่ยังเป็นปัจจุบันของพระศาสนจักรทั้งหมด” บรรดาปิตาจารย์สอนว่าพระคัมภีร์ถูกบันทึกไว้ในใจของพระศาสนจักรมากกว่าในเอกสารที่เขียนไว้ พระศาสนจักรเก็บรักษาความทรงจำที่ยังเป็นปัจจุบันถึงพระวจนาตถ์ของพระเจ้าไว้ในธรรมประเพณีของตน และพระจิตเจ้าทรงเสนอคำอธิบายพระคัมภีร์ในด้านจิตใจให้แก่พระศาสนจักร (“.....ตามความหมายด้านจิตใจที่พระจิตเจ้าประทานให้แก่พระศาสนจักร”)
CCC 114 เอาใจใส่คำนึงถึงความสอดคล้องของความเชื่อ (Analogia fidei) วลี “ความสอดคล้องของความเชื่อ” หมายความว่าเราเข้าใจว่าความจริงต่างๆ ที่ความเชื่อสอนนั้นมีความต่อเนื่องกันและรวมอยู่ในแผนการทั้งหมดของการเปิดเผยความจริง

––––––––––––––––––––
📌 สามารถติดตามอ่านหรือรับฟังย้อนหลังได้ที่ช่องทาง Facebook และ Youtube ครับ 👇
Facebook Playlist :
https://web.facebook.com/watch/102808045391552/945872893009316
Youtube Playlist :
https://youtube.com/playlist?list=PLZHuESFhfQp_Th59qAd1vLnly-aDc-zAc

📌 ติดตามกันต่อกับหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) ฉบับหนังสือเสียงของวันพรุ่งนี้ได้ทุกวันในเวลา 7.00 น. ได้ทั้ง 2 ช่องทางนี้ครับ 👇
Facebook Page : https://www.facebook.com/RCIA.BKK
Youtube Channel : MissionBKK
https://www.youtube.com/channel/UChzM2UZuiAxYHJ_jomTfz2w

#แผนกคริสตศาสนธรรมผู้ใหญ่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
#คำสอนผู้ใหญ่
#RCIA