หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) ฉบับหนังสือเสียง : วันที่ 24

Posted on 01/23/2022
|

📌 วันที่ 24
- ความเชื่อและสติปัญญา (CCC 156-159)
- เสรีภาพของความเชื่อ (CCC 160)
- จำเป็นต้องมีความเชื่อ (CCC 161)
- การยืนหยัดในความเชื่อ (CCC 162)
- ความเชื่อ – จุดเริ่มของชีวิตนิรันดร (CCC 163-165)

ความเชื่อและสติปัญญา
CCC 156 แรงบันดาลใจให้เชื่อไม่อยู่ที่ว่าความจริงที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้ทราบนั้นปรากฏว่าจริงและเข้าใจได้อาศัยแสงสว่างของเหตุผลตามธรรมชาติของเรา เราเชื่อ “เพราะอำนาจของพระเจ้าผู้ทรงเปิดเผยนั้นเอง พระองค์ไม่อาจทรงหลอกลวงผู้ใดและไม่มีผู้ใดหลอกลวงพระองค์ได้” “ถึงกระนั้น ‘เพื่อให้การยอมรับความเชื่อของเราสอดคล้องกับเหตุผล’ พระเจ้าจึงทรงปรารถนาประทานข้อพิสูจน์ภายนอกเกี่ยวกับการเปิดเผยของพระองค์มาร่วมกับความช่วยเหลือภายในของพระจิตเจ้าอีกด้วย” ดังนั้น การอัศจรรย์ของพระคริสตเจ้าและบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ การประกาศพระวาจา การขยายตัวและความศักดิ์สิทธิ์ ความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงของพระศาสนจักร “จึงเป็นเครื่องหมายแน่ชัดที่สุดของการเปิดเผยของพระเจ้า และเครื่องหมายนี้ก็เป็นสิ่งที่สติปัญญาของทุกคนเข้าใจได้” แสดงพลังบันดาลใจของความน่าเชื่อถือว่า “การเห็นด้วยกับความเชื่อไม่ใช่แรงผลักดันที่มืดบอดของจิตใจ"
CCC 157 ความเชื่อมีความชัดเจน ชัดเจนยิ่งกว่าความรู้ทุกอย่างของมนุษย์ เพราะมีรากฐานตั้งอยู่บนพระวาจาของพระเจ้าผู้ไม่อาจตรัสมุสาได้ ใช่แล้ว ความจริงต่างๆ ที่ทรงเปิดเผยอาจดูเหมือนว่าคลุมเครือสำหรับเหตุผลและประสบการณ์ของมนุษย์ แต่ “ความชัดเจนที่ได้มาอาศัยแสงสว่างของพระเจ้าย่อมยิ่งใหญ่กว่าความชัดเจนที่ได้มาอาศัยแสงสว่างของเหตุผลตามธรรมชาติ” “ข้อความที่เข้าใจยากหมื่นข้อความไม่ทำให้เกิดความสงสัยหนึ่งข้อ”
CCC 158 “ความเชื่อแสวงหาความเข้าใจ” : คุณสมบัติประการหนึ่งของความเชื่อก็คือผู้มีความเชื่อย่อมปรารถนาจะรู้จักผู้ที่เขามอบความเชื่อถืออยู่ให้มากยิ่งขึ้นและปรารถนาจะเข้าใจความจริงที่เขาเปิดเผยให้รู้นั้นดีขึ้น โดยธรรมชาติแล้ว ความรู้ที่ยิ่งลึกซึ้งจะนำความเชื่อมากขึ้นมากับตน เป็นความเชื่อที่ความรักย่อมจุดให้ลุกเป็นไฟมากยิ่งขึ้นเสมอ พระหรรษทานความเชื่อย่อมเปิด “ตาแห่งใจ” (อฟ 1 : 18) ให้เข้าใจอย่างคล่องตัวเกี่ยวกับความจริงที่พบได้ในการเปิดเผย ซึ่งหมายถึงความเข้าใจแผนการของพระเจ้าและธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อทั้งหมดว่ามีความสัมพันธ์อย่างไรระหว่างกันและกับพระคริสตเจ้าศูนย์กลางแห่งธรรมล้ำลึกที่ได้รับการเปิดเผย “พระจิตเจ้า ประทานพระคุณนานาประการอยู่ตลอดเวลาเพื่อความเข้าใจข้อความจริงที่พระเจ้าทรงเผยให้ทราบนั้นจะได้ก้าวหน้าลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้น” ดังที่นักบุญออกัสตินเคยกล่าวไว้ว่า “จงเข้าใจเพื่อจะได้เชื่อ จงเชื่อเพื่อจะได้เข้าใจ”
CCC 159 ความเชื่อและความรู้ “เป็นความจริงว่าแม้ความเชื่อจะอยู่เหนือเหตุผล แต่ก็ไม่เคยมีความขัดแย้งแท้จริงได้เลยระหว่างความเชื่อกับเหตุผล เพราะพระเจ้าองค์เดียวกันที่ทรงเปิดเผยธรรมล้ำลึกและทรงหลั่งความเชื่อ ก็ประทานแสงสว่างของเหตุผลในใจมนุษย์ด้วย พระเจ้าคงไม่อาจปฏิเสธพระองค์เอง และขัดแย้งกับความจริงได้เลย” “ดังนั้น การค้นคว้าอย่างเป็นระบบในวิชาการต่างๆ ถ้าดำเนินไปตามหลักวิชาการจริงๆ และตามกฎศีลธรรม จึงจะไม่มีวันขัดแย้งจริงๆเลยกับความเชื่อ เพราะทุกสิ่งทั้งทางโลกและที่เกี่ยวกับความเชื่อล้วนสืบเนื่องมาจากพระเจ้าองค์เดียวกัน ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่พยายามค้นคว้าความลึกลับของสิ่งต่างๆ ด้วยใจที่ถ่อมตนและมั่นคงก็ถูกจูงโดยไม่รู้ตัวประหนึ่งจากพระหัตถ์ของพระเจ้าผู้ทรงดูแลทุกสิ่ง ทรงทำให้ทุกสิ่งเป็นอยู่อย่างที่เป็น”

เสรีภาพของความเชื่อ
CCC 160 เพื่อให้การตอบสนองความเชื่อเป็นการกระทำอย่างมนุษย์ “ก่อนอื่นหมด มนุษย์ต้องตอบสนองต่อพระเจ้าโดยเชื่อจากใจจริง จึงไม่ต้องมีผู้ใดถูกบังคับให้ยอมรับความเชื่อ เพราะการแสดงความเชื่อนั้นโดยธรรมชาติแล้วต้องเป็นการกระทำโดยสมัครใจ” “พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์ให้มารับใช้พระองค์ด้วยจิตและความจริง มนุษย์จึงมีพันธะผูกมัดอยู่ในมโนธรรม แต่ไม่ใช่ถูกบังคับ […] ความจริงประการนี้ปรากฏชัดอย่างยิ่งในพระเยซูคริสตเจ้า” พระคริสตเจ้าทรงเชิญทุกคนให้กลับใจ แต่ก็มิได้ทรงบังคับโดยวิธีใดเลย “พระองค์ทรงเป็นพยานถึงความจริง แต่ไม่ทรงปรารถนาจะใช้กำลังบังคับผู้ที่ขัดขืนความจริง เพราะพระอาณาจักรของพระองค์ […] เจริญเติบโตขึ้น [….] ด้วยความรักที่พระคริสตเจ้า เมื่อทรงถูกยกขึ้นตรึงบนไม้กางเขน ทรงใช้เพื่อดึงดูดมนุษย์ทุกคนมาหาพระองค์”

จำเป็นต้องมีความเชื่อ
CCC 161 ความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าและในพระองค์ผู้ทรงส่งพระองค์ท่านมาเพื่อช่วยเราให้รอดพ้น เป็นสิ่งที่จำเป็นที่เราต้องมีเพื่อรับความรอดพ้นนี้ “เพราะ ‘ถ้าไม่มีความเชื่อแล้ว จะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าไม่ได้เลย’ (ฮบ 11 : 6) ดังนั้น จึงไม่มีผู้ใดจะเข้ามามีส่วนร่วมกับบรรดาบุตรของพระองค์ได้โดยไม่ได้รับความชอบธรรม และไม่มีผู้ใดนอกจาก ‘ผู้ที่ยืนหยัดจนถึงวาระสุดท้าย’ (มธ 10 : 22 ; 24 : 13) ที่จะได้รับชีวิตนิรันดร”

การยืนหยัดในความเชื่อ
CCC 162 ความเชื่อเป็นของประทานที่พระเจ้าประทานให้เปล่าๆ เราอาจสูญเสียของประทานล้ำค่านี้ได้ นักบุญเปาโลเตือนทิโมธีว่า “ข้าพเจ้าขอแนะนำท่าน [….] เพื่อท่านจะได้ [....] ต่อสู้อย่างกล้าหาญ โดยยึดความเชื่อและมโนธรรมที่ดีไว้ บางคนละทิ้งมโนธรรมที่ดี ความเชื่อของเขาจึงต้องพินาศ” (1ทธ 1 : 18-19) เพื่อจะมีชีวิต มีความเชื่อ และยืนหยัดในความเชื่อจนถึงวาระสุดท้าย เราต้องได้รับการเลี้ยงดูด้วยพระวาจาของพระเจ้า เราต้องอธิษฐานภาวนาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าให้พระองค์ทรงเพิ่มพูนความเชื่อให้แก่เรา ความเชื่อต้องแสดงออกเป็นการกระทำ “อาศัยความรัก” (กท 5 : 6) ต้องได้รับการส่งเสริมจากความหวังและฝังรากอยู่ในความเชื่อของพระศาสนจักร

**CCC ข้อที่ 163 - 165 ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaicatechesis.com/ccc/part-one/section-one/s1-i-believe-we-believe-chapter-three

#แผนกคริสตศาสนธรรมผู้ใหญ่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
#คำสอนผู้ใหญ่
#RCIA